C-FHI
PBRU College of Food and Hospitality Innovation
จากนโยบายสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี รวมถึงอธิการบดีและทีมผู้บริหารได้วางวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ภายในปี 2570 เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านอาหาร การท่องเที่ยว และวิทยาการสุขภาพ ภายใต้ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ด้วยการบูรณาการศาสตร์ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 แผนการศึกษาแห่งชาติระยะ 20 ปี แผนอุดทศึกษาระยะยาว 20 ปี ในเรื่องของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การสร้างโอกาสและความสามารถทางการศึกษา การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการเสริมสร้างความรู้และทักษะทางอาชีพ ประกอบกับต้นทุนศักยภาพเชิงพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดและจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ในการสร้างการสร้างต้นทุนทางทรัพยากรเพื่อการลงทุนและสร้างความเชื่อมโยงของการท่องเที่ยวและพื้นที่เศรษฐกิจ และเมืองน่าอยู่ น่ากิน น่าเที่ยว สู่เมืองสร้างสรรค์ระดับสากลอย่างยั่งยืน และการที่จังหวัดเพชรบุรีได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO (Creative City of Gastronomy: UNESCO) โดยที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีถือเป็นแหล่งที่รวบรวมองค์ความรู้ วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม โดยมีพันธกิจหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยการส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ คู่คุณธรรม ให้มีอัตลักษณ์และสมรรถนะใน ศตวรรษที่21 และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาทุกช่วงวัย
จากที่กล่าวมา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จึงมีการจัดตั้ง วิทยาลัยนวัตกรรมอาหารและอุตสาหกรรมบริการ (Collage of Food and Hospitality Innovation; C-FHI) โดยมีมีโรงเรียนอาหารนานาชาติเพชรบุรี (Phetchaburi International Culinary School) Think Café อาคารปฏิบัติการโรงแรมและท่องเที่ยว (The PBRU Heritage) ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบวิทยาเขตโป่งสลอด การปรับปรุงศูนย์วิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชา, พื้นที่การเรียนรู้ภาคปฏิบัติการเกษตร, อาคารปฏิบัติการเพชรน้ำหนึ่ง และพื้นที่สถาบันวิจัยฯ เพื่อเป็นต้นแบบสู่การสร้างประโยชน์และรายได้ เป็นศูนย์การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงของนักศึกษาที่เข้ามาเรียน

วิทยาลัยนวัตกรรมฯ ประกอบด้วย 4 หลักสูตร ที่มุ่งเน้นการบรูณาการศาสตร์ตั้งแต่ต้น-กลาง-และปลายน้ำ ดังนี้ 1. สาขาวิชาเกษตรอินทรีย์ และการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ (Organic Agriculture and Smart Farm Management) 2. สาขาวิชาอาหารสร้างสรรค์และการจัดการบริการอาหาร (Creative Gastronomy and Food Service Management) 3. สาขาวิชาภาษาจีนเพื่อธุรกิจและบริการ (Chinese for Business and Services) และ 4. สาขาวิชาการท่องเที่ยว การบริการ อีเวนท์ และการจัดการภัตตาคารนานาชาติ (International Tourism, Hospitality, Events and Restaurant Management)
การจัดการเรียนการสอน ครอบคลุมกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ ซึ่งเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเป็น เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO (Creative City of Gastronomy) ดังนี้:
ต้นน้ำ: การผลิตวัตถุดิบคุณภาพ
สาขาวิชาเกษตรอินทรีย์และการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ (Organic Agriculture and Smart Farm Management)
โดยอาศัยหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ระบบเกษตรอินทรีย์และเทคโนโลยีฟาร์มอัจฉริยะ
สนับสนุนการพัฒนาวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น น้ำตาลโตนด หรือสมุนไพรไทย เพื่อให้วัตถุดิบมีมูลค่าเพิ่มและเหมาะสมกับการนำไปต่อยอดในกระบวนการสร้างสรรค์อาหาร
ส่งเสริมความยั่งยืนของระบบอาหารผ่านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการลดของเสียในกระบวนการผลิต ด้วยรูปแบบ BCG Model สู่ความยั่งยืน
กลางน้ำ: การสร้างสรรค์และจัดการอาหาร
สาขาวิชาอาหารสร้างสรรค์และการจัดการบริการอาหาร Creative Gastronomy and Food Service Management)
มุ่งเน้นการพัฒนาสูตรอาหารและเมนูใหม่ ๆ ที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น และสากล พร้อมผสมผสานกับนวัตกรรมและเทรนด์อาหารระดับโลก เช่น อาหารโมเลกุล อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารรักษ์โลก
เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์อาหารพื้นถิ่นของเพชรบุรี เช่น แกงหัวตาล ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง ผัดไทย ข้าวแช่ ขนมหม้อแกง หรือเมนูอาหารคาวหวานที่มีเอกลักษณ์ ร่วมกับการยกระดับอาหารพื้นถิ่นสู่สากล รวมถึงพัฒนาทักษะการประกอบอาหารด้วยมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ
พัฒนาทักษะการบริหารจัดการร้านอาหารและบริการด้านอาหาร เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน สู่การเป็นนักบริหารจัดการด้านอาหารอย่างมืออาชีพ
ปลายน้ำ: การบริการ และการสื่อสารระดับโลก
สาขาวิชาภาษาจีนเพื่อธุรกิจและบริการ (Chinese for Business and Services)
มุ่งสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งสามารถช่วยสื่อสารคุณค่าของสินค้าและวัฒนธรรมไทยสู่ตลาดจีนและนานาชาติ
ช่วยพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ เช่น การส่งออกสินค้า การทำธุรกิจสินค้าและวัฒนธรรม นำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
สาขาวิชาการท่องเที่ยว การบริการ อีเวนท์ และการจัดการภัตตาคารนานาชาติ (International Tourism, Hospitality, Events and Restaurant Management)
พัฒนานักศึกษาให้สามารถจัดการการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นต้น
มีความสามารถในการบริหารจัดการงานด้านอุตสาหกรรมบริการอย่างสร้างสรรค์ โดยเน้นประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ประเพณี ได้อย่างกลมกลืน
การออกแบบกิจกรรมและอีเวนท์ที่ในบริบทระดับชาติและนานาชาตินำสู่การตอบโจทย์เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO (Creative City of Gastronomy: UNESCO)
- สนับสนุนความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน เริ่มต้นจากการผลิตวัตถุดิบที่ยั่งยืน (ต้นน้ำ) การพัฒนาสูตรอาหารสร้างสรรค์ (กลางน้ำ) และการจัดการและบริการ (ปลายน้ำ)
- ส่งเสริมเอกลักษณ์อาหารพื้นถิ่นหลักสูตรสนับสนุนการอนุรักษ์และต่อยอดวัฒนธรรมอาหารของเพชรบุรี โดยเน้นการสร้างคุณค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์อาหารนำสู่สากล ด้วยมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ
- พัฒนาทักษะบุคลากรในระดับสากลสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านอาหารในเวทีโลก
- การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติส่งเสริมการเชื่อมโยงกับเมืองสร้างสรรค์อื่น ๆ ในเครือข่าย UNESCO เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านอาหารและการบริการอย่างมืออาชีพ
จากที่กล่าวมาวิทยาลัยฯ มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษาด้านเกษตรอินทรีย์ อาหาร และอุตสาหกรรมบริการ โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างผู้เรียนที่มีทักษะในระดับสากล พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในภาคเอกชน และระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดอย่างยั่งยืน
– โดยทุกหลักสูตรจะมีรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในรูปแบบ Sandbox หรือ Credit Bank ที่สามารถรองรับการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ และทุกช่วงวัย
– พัฒนาหลักสูตรในรูปแบบโมดูล ที่ไม่มุ่งเน้นปริญญา จะเป็นในรูปแบบหลักสูตรระยะสั้น ที่เป็นใบรับรองหรือประกาศนียบัตร เพื่อเพิ่มหรือเกิดทักษะใหม่ และสามารถเรียนจบได้ภายใน 3-3.5 ปี
– การเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติ ผ่านการแก้โจทย์ปัญหาหรือทำโครงการจริง จากภายนอกห้องเรียน/ที่เรียกว่า Social Lab. จนเกิดทักษะเชิงปฏิบัติการ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ สู่นักบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ที่มีความพร้อมและมีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ หรือ Start Up ด้านนวัตกรรม
– เกิดการแลกเปลี่ยน และฝึกงาน ของนักศึกษา โดยเฉพาะการทำความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม และ ภาคการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ จากบริษัทเอกชนชั้นนำ โรงแรมระดับ 5-6 ดาว, มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไต้หวัน และมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีน เป็นต้น
– ต่อยอดสู่หลักสูตร 2 ปริญญา บัณฑิตศึกษา และหลักสูตรนานาชาติ
– พัฒนาทักษะตามมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะทักษะวิชาชีพ รวมถึงทักษะด้านภาษา เทคโนโลยี ทักษะความเป็นผู้นำ นักบริหารจัดการ ทักษะการสื่อสาร และมีคุณธรรมจริยธรรมโดยใช้มาตรฐานเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการสร้างสมรรถนะให้แก่นักศึกษา
– นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และเกิดรายได้ระหว่างเรียน
– นำไปสู่การเป็นนักบริหารจัดการด้วยนวัตกรรมอย่างมืออาชีพ พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต



วิทยาลัยฯ มุ่งมั่นในการเป็นสถาบันแห่งอนาคตที่ครอบคลุมด้านเกษตร อาหาร ภาษา และอุตสาหกรรมบริการ อย่างครบห่วงโซ่
สนับสนุนการเติบโตและพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ด้วยการบูรณาการศาสตร์ที่หลากหลาย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะเชิงปฏิบัติ เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะ จากห้องปฏิบัติการจริง / Social Lab ให้มีทักษะทางภาษา เทคโนโลยี และความเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพที่มีจรรยาบรรณ ด้วยมาตรฐานระดับนานาชาติ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และเกิดรายได้ระหว่างเรียนจากการปฏิบัติ
สร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรม ผ่านการศึกษาทุกช่วงวัย และวิจัยที่ทันสมัย ตอบโจทย์โลกอนาคตและเกิดการใช้ประโยชน์จริง โดยอาศัยต้นทุนทางวัฒนธรรม Soft Power และการเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO เชื่อมโยงสร้างเครือข่ายแบบจตุรภาคี เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากร ร่วมกันของภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจเอกชน และภาคการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ และมุ่งเน้นการบริการวิชาการสู่ภาคประชาชน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิด BCG Model มาใช้ในการบริหารและพัฒนาวิทยาลัยฯ ให้เกิดรายได้ ถ่ายทอดให้เกิดผลกระทบและผลตอบแทนทางสังคม ถือเป็นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก และแนะแนวให้วิทยาลัยฯ เป็นที่รู้จัก นำสู่ความยั่งยืนต่อไป